เปิดมาตรการรับมือ COVID-19 ช่วงตรุษจีน พร้อมเปิดจุดฉีดวัคซีนสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
วานนี้ (11 ม.ค. 66) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์ COVID-19 ว่า ในช่วงสัปดาห์แรกของปี 2566 สถานการณ์ผู้ป่วย COVID-19 ภายในประเทศมีแนวโน้มลดลง
ซึ่งแสดงให้เห็นถึงกระบวนการเฝ้าระวังโรคของไทย การฉีดวัคซีนโควิดที่ครอบคลุม เข็มแรกกว่า 80% เข็มสองกว่า 70% และคนไทยมีความรู้ในการดูแลตัวเอง ทั้งนี้ ตามที่เคยคาดว่าหลังปีใหม่จะมีการติดเชื้อในลักษณะพุ่งสูงขึ้น (spike) แต่เท่าที่ดูตอนนี้ยังไม่เพิ่มขึ้น แต่จะดูช่วงหลังตรุษจีนด้วย
ส่วนมาตรการหลังจากประเทศจีนเปิดประเทศ ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวชาวจีน จะไปตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หรือวัดตามจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งจากการประชุมมาตรการรองรับนักท่องเที่ยว เมื่อวันที่ 5 ม.ค. ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการได้เตรียมการตามมาตรการการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล ถ้ามีความห่วงกังวลเรื่องวัดหรือสถานที่ต่าง ๆ จะประสานไปยังกระทรวงวัฒนธรรมเพิ่มเติม รวมถึง กทม.เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยว
นพ.ธเรศ กล่าวว่า ขณะนี้มีการเฝ้าระวังการเดินทางผ่านท่าอากาศยาน ทั้งการตรวจวัดอุณหภูมิ การให้ความรู้ในกรณีการติดเชื้อ ซึ่งเราจะทำเพิ่มคือ ด่านบก เพราะนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งเดินทางด้วยรถไฟ ที่กรมควบคุมโรคมีด่านอยู่แล้ว แต่ก็ได้สั่งการแล้วว่า ให้ทำการเฝ้าระวังในกลุ่มผู้เดินทางเพิ่มขึ้น เช่น เชียงราย จังหวัดชายแดน โดยใช้แนวทางเดียวกันคือ ถ้าประเทศปลายทางกำหนดว่าจะต้องตรวจ RT-PCR ก่อนกลับ ก็จะต้องมีการทำประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการรักษา COVID วงเงินไม่ต่ำกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันมี 2 ประเทศที่กำหนด คือ อินเดีย และจีน
นพ.ธเรศ กล่าวว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมฉีดวัคซีนโควิดให้ชาวต่างชาติ กรมควบคุมโรคได้เตรียมพื้นที่ใน กทม. ไว้ 2 จุด คือ
1.ศูนย์การแพทย์บางรัก มีคำสั่งให้เปิดบริการทุกวัน
2.สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) เขตบางเขน
ส่วนกรมการแพทย์จะมีสถาบันโรคผิวหนังเข้ามาช่วย มีค่าบริการทางการแพทย์ 380 บาท ค่าบริการวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 800 บาท รวม 1,180 บาทต่อเข็ม และไฟเซอร์ 1,000 บาท รวม 1,380 บาทต่อเข็ม
โดยพื้นที่ กทม. เริ่มบริการแล้ว พื้นที่จังหวัดท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ กรมควบคุมโรคจะนัดประชุมเตรียมความพร้อม โดยมีเป้าหมายว่าจะให้ทุกจังหวัดมีจุดฉีดวัคซีนสำหรับต่างชาติ 1 จุด ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลประกาศให้ประชาชนรับทราบ
ขณะที่บริการตรวจ RT-PCR ให้ผู้เดินทาง อ้างอิงค่าบริการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยประสานสถานทูตแต่ละประเทศแล้ว ว่าเอกสารรับรองตรวจโควิดจากหน่วยบริการที่ สธ.รับรองสามารถใช้อ้างอิงได้ทั้งหมด ส่วนเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการ คือ การทำแบบฟอร์มกลางสำหรับผู้เดินทางที่สมัครใจฉีดวัคซีน
เมื่อถามว่า กรณีที่ชาวต่างชาติติดเชื้อโควิดแต่ประกันหมดจะต้องทำอย่างไร นพ.ธเรศ กล่าวว่า ประกันสุขภาพผู้เดินทาง กำหนดกรอบคร่าว ๆ ว่า
1.ครอบคลุมรักษาโควิด
2.ครอบคลุมการรักษาประมาณ 7 วัน
เท่าที่ตรวจสอบกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สมมติว่า ถ้ามาท่องเที่ยว 7 วันและซื้อประกันมา กรณีป่วยก่อนวันที่ 7 ก็ขอให้ประกันมีความครอบคลุมการรักษาอย่างน้อย 7 วัน ทั้งนี้ ข้อมูลประกันเดิมที่เคยมี พบว่า ประกันเพียงพอต่อการรักษาโควิดในปัจจุบัน
สำหรับชาวต่างชาติที่ติดเชื้อโควิด แต่มีอาการไม่มาก นพ.ธเรศ กล่าวว่า ได้หารือกับ คปภ. เรื่องแนวทางรักษาโควิดในปัจจุบันสามารถรักษาตัวแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายจะน้อยกว่าเข้า รพ.มาก ดังนั้น จะทำให้กรมธรรม์อัตราไม่สูง จึงให้ คปภ.ออกแบบประกัน ซึ่งเขายังกังวลเล็กน้อยเรื่องอัตราการพบผู้ป่วย คาดว่า 2 สัปดาห์จะทราบข้อมูลนี้
อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะพักในโรงแรมที่มีมาตรฐาน SHA Plus ซึ่งพนักงานมีความพร้อมดูแลผู้ป่วยโควิด และมี รพ. เอกชนคู่สัญญารองรับตรวจโควิดให้ผู้เข้าพัก ถ้าติดเชื้อมีระบบส่งต่อ แต่หากไม่ได้พักในโรงแรม SHA Plus ก็ยังมีประกันสุขภาพที่สามารถเข้ารักษาใน รพ. ได้ เคลมได้ตามระบบ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีความจำเป็นในการเปิด Hospitel แต่ถ้ามีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงก็สามารถให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดระบบนี้ขึ้นมารองรับได้
เมื่อถามถึงการคาดการณ์โควิดหลังจากมีนักท่องเที่ยวมากขึ้น นพ.ธเรศ กล่าวว่า มีคาดการณ์ฉากทัศน์ไว้ ซึ่งนักท่องเที่ยวระยะแรกคาดว่าจะไม่มาก อย่างจีน 3 เดือนแรกคาดว่าเข้ามา 3 แสนคน คิดเป็น 5% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ขณะที่เราเปิดประเทศตั้งแต่ ต.ค.2565 นักท่องเที่ยวเข้ามาปกติ แต่ยังไม่เห็นการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ ส่วนหนึ่งนักท่องเที่ยวเองก็มีความระวัง แสดงว่าระบบเฝ้าระวังดูแลได้ตามที่คาด